
บ้านเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว ในยามที่ฝนตกผ้าร้อง หรือแดดจัด บ้านก็เป็นที่ที่ให้เราหลบแดดหลบฝน แต่เมื่อบ้านเจอฝนหนักจนฝนสาดเข้ามา หรือเจอแสงแดดที่ร้อนจัดสอดส่องมายังในบ้านก็ทำให้รู้สึกว่าบ้านนั้นไม่มีความสุขอีกต่อไป ดังนั้นจึงมีกันสาดเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ทำให้ปัญหาหมดไป แต่จะเลือกกันสาดแบบไหนดีละมีตั้งหลายแบบให้เลือกมากมาย เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับกันสาดแบบต่างๆเพื่อให้เกิดไอเดียในการแต่งบ้านให้เหมาสมและเกิดประโยชน์สูงสุด

1. กันสาดไร้เสา
หากใครต้องการติดตั้งกันสาดแบบโปร่งโล่งไร้เสา ลองนำไอเดียนี้ไปใช้ดูสิ โดยทำเป็นโครงสร้างเหล็ก มุงแผ่นพอลิคาร์บอนเนตซึ่งมีน้ำหนักเบาและช่วยกรองแสงได้ดีไว้ด้านบน จากนั้นยึดโครงสร้างด้านหนึ่งไว้กับผนังอาคาร ส่วนอีกด้านฝากไว้บนแกนเหล็กแขวนเอียง 45 องศา เท่านี้กันสาดไร้เสาก็แข็งแรงทนทานแล้ว


2. กันสาดหน้าต่าง
เหมาะกับบ้านสไตล์โมเดิร์นที่นิยมติดตั้งหน้าต่างกระจกแบบบานเลื่อน ซึ่งมีโอกาสฝนสาดได้ง่าย และการติดตั้งกันสาดทีหลังทำได้ยากลำบาก เราจึงแนะนำให้ทำกันสาดด้วยการทำโครงสร้างเหล็กเป็นกรอบสี่เหลี่ยมยึดกับผนังแทน เท่านี้คุณก็ไม่ต้องกังวลเรื่องความแข็งแรง แดดและฝนอีกต่อไปแล้ว

3. กันสาดด้านข้าง
ติดตั้งตรงทิศที่ฝนสาด หรือแดดส่องเข้ามาเป็นประจำ เราสามารถติดผ้าใบที่ปลายกันสาดได้ โดยยึดผ้าใบไว้กับลวดสะลิง เพื่อกันไม่ให้ผ้าใบปลิวตามแรงลม ส่วนโครงสร้างของกันสาดทำจากโครงเหล็กกล่อง ขนาด 2 X4 นิ้ว วางทับด้วยหลังคาลอนเดียวชนิดใส และตีซี่ไม้ระแนง ขนาด 1X1 นิ้ว ปิดทับด้านใต้อีกทีหนึ่ง



4. กันสาด กึ่งทึบกึ่งโปร่ง
ถ้าอยากให้แสงสว่างส่องลงมาถึงภายในบ้าน แนะนำให้ทำกันสาดด้วยแผนหลังคาลอนเดียวชนิดใส วางทับบนโครงสร้างเหล็กกล่อง ขนาด 1X2 นิ้ว ที่ตีเป็นโครงสร้างตามต้องการ โดยออกแบบให้ยื่นจากแนวผนังเดิม 120 เซนติเมตร เพื่อกันฝนสาด

5. กันสาดอะลูมิเนียม
เหมาะกับมุมระเบียงที่ต้องการความโปร่งโล่งหรือกึ่งทึบกึ่งโปร่ง จากเดิมที่เคยคุ้นตากับไม้ระแนง ลองเปลี่ยนวัสดุมาเป็นโครงเหล็กตัวเอช (H) ให้ดูทันสมัย แล้วติดอะลูมิเนียมอบสีขาว ขนาด 1 X 1 นิ้ว ตีห่างกัน 1 นิ้ว ไว้ด้านบน เสร็จแล้วปิดทับด้วยแผ่นพอลิคาร์บอนเนตใสเพื่อกันฝนและแดด

6. กันสาดม่านน้ำตก
ใครว่ามีกันสาดไว้เพื่อกันแดดและฝนอย่างเดียว ลองสร้างความพิเศษให้กันสาดด้วยการซ่อนท่อน้ำไว้ด้านบน แล้วปล่อยสายน้ำให้ตกลงมายังบ่อน้ำริมระเบียงด้านล่าง เกิดเป็นภาพม่านน้ำสวย ๆ ให้ความรู้สึกสดชื่นได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ควรเลือกใช้ซี่ระแนงสแตนเลสแทนวัสดุชนิดอื่นเพราะมีความทนทาน และทนน้ำได้ดี

7. กันสาดต่อเติม
กันสาดที่ยื่นออกมาจากแนวอาคารมาก ๆ ควรมีเสามารับน้ำหนักเพิ่มเติม โดยแยกโครงสร้างให้ยื่นออกจากอาคารเดิม แล้วตีแนวไม้จันทันฝากน้ำหนักไว้กับเสา เท่านี้ระเบียงก็จะมีกันสาดยื่นยาวออกไปได้ตามต้องการแล้ว

8. กันสาดนั่งเล่นได้
ต่อเติมกันสาดให้ยื่นออกนอกตัวอาคารด้วยแผ่นไม้ขนาดหน้ากว้าง 15 เซนติเมตร เว้นร่องห่างกัน 2 เซนติเมตร โดยตีแนวคานไม้ให้ห่างกันทุก ๆ ระยะ 60 เซนติเมตร เพื่อช่วยให้กันสาดมีความแข็งแรง นอกจากบังแดดและฝนแล้ว เรายังสามารถขึ้นไปนั่งเล่นหรือใช้งานอื่น ๆ ได้ด้วย

9. กันสาดเเผ่นเมทัลชีท
เพิ่มความน่าสนใจใต้กันสาดด้วยการตีไม้ระแนงเว้นร่องให้เป็นช่องระบายอากาศใต้หลังคา ทั้งยังช่วยให้ใต้หลังคาดูน่ามองยิ่งขึ้น โดยเว้นระยะให้แผ่นเมทัลชีทยื่นออกมา 25 เซนติเมตร เพิ่อกันน้ำฝนไหลย้อนลงมาโดนแผ่นไม้


10. ระแนงไม้
ทำกันสาดจากซี่ไม้ ขนาด 1 X 1 นิ้ว ตีทับแนวผนังและคานไม้ เหมาะกับบ้านสไตล์รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ หรือศาลาพักผ่อนในสวน และเพื่อให้ดูเข้ากับธรรมชาติมากขึ้น แนะนำให้ทาสีย้อมไม้แบบด้านเพื่อโชว์พื้นผิวและลายไม้ที่สวยงาม


11. กันสาดม่านต้นไม้
เพื่อความร่มรื่นและกรองแดดได้ในตัว ด้วยการตีไม้ระแนง ขนาด 1 X 4 นิ้ว เป็นแนวยาวเว้นร่องห่างกัน 10 เซนติเมตร แล้วตีโครงไม้ไผ่ทับ เพื่อให้ม่านบาหลีสามารถยึดเกาะ และห้อยรากอากาศลงมาเป็นแนวม่านธรรมชาติ

12. กันสาดคลาสสิก
นำไม้ระแนง ขนาด 1 X 4 นิ้ว มาวางตั้งตรงห่างกันทุก ๆ ระยะ 20 – 40 เซนติเมตร และเลื่อยปลายไม้ให้มีลักษณะเฉียง 45 องศา รองรับด้วยเสาไม้กลึงสไตล์คลาสสิก แล้วตกแต่งด้วยค้ำยันเหล็กดัดช่วยให้บ้านดูสวยสไตล์ยุโรป
เป็นไงกันบ้านกับกันสาดแบบต่างๆ มีให้เลือกกันมากมาย แต่อย่างไรก็ตามการเลือกติดกันสาดให้เหมาะสมกับบ้านนั้นไม่ใช่แค่ความสวยงามแค่นั้น แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้จากการติดเป็นสำคัญ เพราะหากมองแต่แค่ความสวยอย่างเดียวบางทีกันสาดที่ติดไปนั้นอาจจะไม่เข้ากับบ้านหรือทำให้ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดก็ได้