
กรมที่ดินแนะวิธีเช็ก ราคาประเมินที่ดินออนไลน์
ที่ดินเป็นอีกหนึ่งทรัพย์สินที่หลายคนซื้อเก็บไว้ เพราะราคาสูงขึ้นทุกปี การประเมินราคาที่ดินเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ควรรู้ไว้ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หรือต้องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยราคาประเมินที่ดิน เป็นราคาที่ดินที่ถูกประเมินโดยกรมธนารักษ์
สำหรับคนที่อยากอัปเดตว่าตอนนี้ราคาประเมินที่ดินของเรามีมูลค่าประมาณเท่าไร ก็สามารถเช็กราคาประเมินที่ดินออนไลน์ด้วยตัวเองง่าย ๆ ไว้เป็นข้อมูลก่อนทำการซื้อขาย ในบทความนี้ ไทยโฮมทาวน์จะมาแนะนำให้รู้ว่าการ ดูราคาประเมินที่ดิน ต้องทำอย่างไร และมีระเบียบที่เกี่ยวข้องที่ควรรู้ ตามที่กรมธนารักษ์ได้กำหนดไว้อย่างไรบ้าง
ขั้นตอนการเช็ก ราคาประเมินที่ดินออนไลน์
สามารถค้นหาราคาประเมินที่ดินออนไลน์ด้วยตัวเองได้หลายวิธี โดยแบ่งเป็นการค้นหาราคาประเมินแบบ
-
แบบที่มีโฉนดที่ดิน
-
แบบที่ไม่มีโฉนดที่ดิน

เช็กราคาประเมินที่ดินออนไลน์แบบมีโฉนด
ราคาประเมินที่ดินที่จัดทำโดยกรมธนารักษ์ โดยส่วนใหญ่จะนำมาใช้เป็นหนึ่งในเกณฑ์อ้างอิงของราคาซื้อ-ขาย สามารถเช็กราคาประเมินที่ดินออนไลน์เองง่าย ๆ ดังนี้
1. เข้าเว็บไซต์ https://assessprice.treasury.go.th/
2. กดเลือกเมนูที่ต้องการค้นหา โดยสามารถค้นได้จากเลขที่โฉนด เลขที่ดิน น.ส. 3 ก. ห้องชุด และสิ่งปลูกสร้าง โดยใส่ข้อมูลแล้วกดค้นหา
▼ ตัวอย่างการค้นหาจากเลขที่โฉนด
ใส่เลขที่โฉนด หน้าสำรวจ จากนั้นเลือกจังหวัดและอำเภอ


จากนั้นจะปรากฏราคาประเมินที่ดินต่อตารางวามาให้

เช็กราคาประเมินที่ดินออนไลน์แบบไม่มีโฉนด
สามารถค้นหาได้จากระบบค้นหารูปแปลงที่ดินของกรมที่ดิน ผ่านทางเว็บไซต์ https://landsmaps.dol.go.th/ จากนั้นเลือกจังหวัดและอำเภอที่ต้องการ หากมีเลขที่โฉนดก็สามารถใส่เพิ่มเติมได้ หากไม่มีโฉนดสามารถกดซูมแล้วคลิกพื้นที่ที่ต้องการทราบราคาประเมิน จากนั้นก็จะปรากฏข้อมูลต่าง ๆ เช่น ที่ตั้ง เนื้อที่ และราคาประเมินที่ดิน


ในบางครั้งผู้ซื้อหรือนายหน้าค้าขายที่ดินก็อยากจะทราบราคาประเมินที่ดิน แต่ยังไม่มีโฉนดอยู่กับตัวก็ไม่เป็นไร การตรวจสอบราคาประเมินที่ดินแบบไม่มีโฉนด ก็ยังทำได้ไม่ยากเย็นมากนัก เพียงเริ่มทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- 1. เข้าเว็บไซต์ ระบบค้นหารูปแปลงที่ดิน ของกรมที่ดิน หรือ เปิดใช้งานแอปพลิเคชัน Landmaps
- 2. ซูมแผนที่เข้าไปค้นหาที่ตั้งที่ดินที่ต้องการตรวจสอบราคา หรือค้นหาจากจังหวัด เขต แขวง หรือแม้กระทั่งค้นหาสถานที่สำคัญในบริเวณใกล้เคียง ไม่ต่างจากการใช้ Google Maps
- 3. คลิกบนที่ตั้งที่ดินที่ต้องการตรวจสอบราคา 2 ครั้ง จากนั้นระบบจะแสดงขอบเขตที่ดินขึ้นมา ให้คลิกไปบนกรอบขอบเขตที่ดินที่ต้องการดู จากนั้นรายละเอียดข้อมูลโฉนด ขนาดที่ดิน รวมทั้งราคาประเมินจะปรากฎให้ได้ดูทันที
วิธีวัดขนาดที่ดิน แบบออนไลน์
การวัดขนาดที่ดินในปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ทำงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก็สามารถวัดขนาดที่ดินได้แล้ว ไปดูกันถ้าเราจะวัดขนาดบ้าน ขนาดที่ดิน หรือพื้นที่ต่างๆ จะวัดอย่างไรได้บ้าง ทั้งจากการวัดขนาดพื้นที่ในคอมพิวเตอร์ และวัดขนาดพื้นที่ในสมาร์ทโฟน ขอบอกว่าง่ายมากๆ

วัดขนาดที่ดินในคอมพิวเตอร์ พีซี
1. เข้า Google Map
ขั้นแรกที่เราจะทำการวัดขนาดที่ดิน เราจะต้งเข้าไปที่เว็บไซต์ https://www.google.com/maps/ หรือ Google Map เพื่อดูหาพื้นที่เราจะวัดขนาดที่ดินก่อน โดยหน้าตาแรกของเว็บไซต์ที่เราจะเห็นมักจะจะเป็นภาพแบบ 2d ในพื้นที่ที่เราอยู่ว่าคือที่ไหน ตำแหน่งไหน
2. คลิกให้แสดงแบบดาวเทียม
หลังจากที่ขึ้นหน้าจอของ Google Map แล้ว แนะนำให้คลิกไปที่มุมซ้ายมือด้านล่างที่เป็นเหมือนภาพดาวเทียม เพื่อแสดงภาพพื้นที่จริงๆ ที่ Google เก็บภาพมุมสูงจริงๆ เอาไว้ วิธีการนี้จะทำให้เราสามารถเห็นพิกัดที่เราจะวัดได้ตรง และแม่นยำได้มากขึ้น
3. ค้นหาหรือเลือกพื้นที่ที่ต้องการวัดขนาดที่ดิน
สำหรับใครที่มีพิกัดชัดเจนว่าที่ที่เราจะวัดขนาดที่ดินอยู่ตรงไหน แนะนำให้ใส่ลงไปในช่องค้นหาได้เลยว่าจุดที่เราจะวัดคือที่ใด พิกัดใด แต่ถ้ายังไม่แม่นพิกัด ให้ลองค้นหาด้วยพื้นที่ใกล้เคียง แล้วทำการซูมที่หน้าจอ Google Map ลงไปเพื่อหาจุดที่ต้องการ ส่วนใครที่ต้องการวัดขนาดที่ดินในจุดที่เราอยู่ ณ ตอนนั้นอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องค้นหาแต่อย่างใด เพียงแค่กดซูมเข้าไปในพื้นที่ตรงนั้น เพื่อให้วัดได้ง่ายๆ และแม่นยำนั่นเอง
4. คลิกขวาจุดที่ต้องการวัดขนาดที่ดิน และเลือก Measure distance
เมื่อได้พิกัดจุดที่ต้องการวัดขนาดที่ดินที่แม่นยำแล้ว ให้คลิกขวาที่จุดที่ต้องการจะวัด แล้วเลือก Measure distance หรือวัดระยะทาง เพื่อเตรียมวัดพื้นที่ตามที่ต้องการ ซึ่งระบบจะขึ้นเป็นจุดขาวเล็กๆ มา หากจุดนั้นอยู่ในจุดที่เราไม่ได้จะเริ่มต้นวัดขนาดที่ดิน เราสามารถคลิกแล้วลากจุดนั้นไปยังตำแหน่งที่เราต้องการได้นะ
5. ลากเส้นให้ครอบคลุมรอบพื้นที่ จะได้ขนาดที่ดินที่ต้องการ
หลังจากนั้นให้เราเริ่มวัดขนาดที่ดิน โดยคลิกจุดต่อไปที่จะวัด ระบบจะลากเป็นเส้นบอกตัวเลขว่ามีขนาดเท่าไร ซึ่งให้คลิกต่อจุดที่จะวัดต่อๆ กันไปจนครบวงก็จะปรากฎขนาดที่ดินที่เราต้องการกันแล้ว

วัดขนาดพที่ดินในสมาร์ทโฟน
1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Google Earth
ใครที่ต้องการจะวัดขนาดที่ดินด้วยมือถือ อย่างแรกที่แนะนำก็คือการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Google Earth ซึ่งอยู่ใน App Store หรือ Google Play ได้เลย ถ้าเราจะใช้งานระบบนี้แค่เบื้องต้น เช่น การวัดขนาดพื้นที่ เราสามารถดาวน์โหลดใช้งานฟรีๆ กันได้เลย
2. เข้าแอปพลิเคชัน Google Earth
เมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ให้เราเปิดแอปฯ ขึ้นมาจะเห็นเป็นรูปโลกกลมๆ
3. เลือกพิกัดที่ต้องการวัดขนาดที่ดิน
หากเรามีพิกัดที่ต้องการจะวัดชัดเจนแล้ว ให้กดที่ไอคอนแว่นขยายแล้วใส่พิกัดที่ต้องการ หรือใส่ชื่อสถานที่ที่ต้องการวัดขนาดที่ดินได้เลย หากไม่มีพิกัดที่ชัดเจนให้ใส่พื้นที่ข้างเคียงที่เด่นๆ ลงไปก่อน
สำหรับใครที่ต้องการวัดขนาดที่ดินในพื้นที่ปัจจุบันที่เราอยู่ก็ให้กดที่สามเหลี่ยมชี้เอียงขึ้นหรือลูกศรชี้ขึ้นตรงมุมขวามือล่างได้เลย ระบบจะนำไปในจุดที่เรากำลังอยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเปิดให้ระบบนำทางหรือ GPS ทำงานด้วยนะ
4. ขยายหรือซูมเข้าไปในจุดที่กำลังจะวัด
เมื่อได้พิกัดแล้ว เห็นภาพขนาดพื้นที่เล็กเกินกว่าที่เราจะลากเส้นวัดขนาด แนะนำให้ขยายหรือซูมเข้าไปก่อนนะ เพื่อให้วัดขนาดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
5. กดที่ไอคอนรูปไม้บรรทัด
หลังจากนั้นให้กดที่ไอคอนรูปไม้บรรทัดด้านบนขาวมือ จะเกิดจุดขาวๆ ขึ้นมา ให้เราลากไปตรงจุดที่เราจะเริ่มต้นวัดขนากที่ดิน
6. กดปุ่ม Add Point เมื่อต้องการลากต่อจุด
หากต้องการเพิ่มจุดสีขาวในการลากวัดพื้นที่ให้กดที่ปุ่ม + Add Point แล้วทำการต่อจุดไปจนครบพื้นที่ที่ต้องการ
7. ได้ขนาดที่ดินที่ต้องการ
เมื่อลากต่อจุดจนครบแล้ว ระบบก้จะขึ้นขนาดที่ดินที่เราต้องการโดยสามารถแตะที่ขนาดที่ดิน เพื่อเลือกหน่วยวัดที่เราต้องการได้เลย เพียงแค่นี้ก้วัดได้อย่างเสร็จสิ้นแล้ว
หน่วยวัดพื้นที่โดยใช้ Google Maps
ตัวเลขแสดงขนาดพื้นที่ที่ได้จากการวัดด้วย Google Maps จะมีหน่วยเป็น ตารางเมตร (m²) หรือ ตารางฟุต (ft²) ต้องนำมาแปลงเป็นหน่วยวัดที่ดินของไทย
ไร่/งาน/ตารางวา/ตารางเมตร |
หน่วยวัดที่ดิน |
1 ไร่ |
= 4 งาน |
4 งาน |
= 400 ตารางวา |
400 ตารางวา |
= 1,600 วา |
1 งาน |
= 100 ตารางวา |
100 ตารางวา |
= 400 ตารางเมตร |
1 ตารางวา |
= 4 ตารางเมตร |
ข้อดี วัดพื้นที่โดยใช้ Google Maps
-
สะดวกและรวดเร็ว สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา เพียงแค่มีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
-
แม่นยำ สามารถใช้วัดพื้นที่ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เรียบ พื้นที่โค้ง หรือพื้นที่ที่มีรูปร่างซับซ้อน
-
ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์วัดพื้นที่ใด ๆ
▼ดาวน์โหลดแอพ Google Earth


หนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินกรมธนารักษ์ ต้องทำอย่างไร
การตรวจสอบราคาประเมินนั้นสามารถทำได้เองในเว็บไซต์ แต่หากต้องการขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดิน ก็จะไปขอได้ที่สำนักงานที่ดินท้องที่ โดยผู้ขอจะต้องเป็นเจ้าของที่ดิน หรือเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดินแปลงนั้น และจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการขอรับรองราคาประเมินตามระเบียบ

เอกสารที่ต้องเตรียม เพื่อขอหนังสือรับรอง
การขอหนังสือรับรองจะต้องนำเอกสารไปยื่นคำขอกับพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา และสำนักงานที่ดินอำเภอ ตามที่ดินนั้นตั้งอยู่ โดยเอกสารที่ต้องเตรียมก็ได้แก่
โฉนดที่ดิน, น.ส.3, น.ส.3ก, ฯลฯ หรือสำเนาเอกสารดังกล่าว (ในกรณีไม่สามารถนำเอกสารฉบับจริงมาได้)
บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรข้าราชการ บัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ ของผู้ขอและผู้รับมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรดังกล่าว ในกรณีมอบอำนาจจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรข้าราชการ บัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมสำเนาบัตรดังกล่าวที่รับรองสำเนาแล้วของผู้มอบอำนาจมาด้วย
สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขอ ในกรณีมอบอำนาจต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจมาด้วย
หลักฐานของนิติบุคคล หรือหนังสือมอบอำนาจ ในกรณีไม่สามารถไปด้วยตนเอง
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
โดยปกติขั้นตอนการขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดิน จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการขอหนังสือรับรองก้จะมีดังนี้
ค่าคำขอแปลงละ 5 บาท
ค่ารับรองฉบับละ 10 บาท
ค่าพยานคำขอเรื่องละ 20 บาท
ค่ามอบ (ถ้ามี) เรื่องละ 20 บาท
รู้ราคาประเมินที่ดิน มีประโยชน์ต่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์อย่างไร

โดยปกติแล้วราคาประเมินอสังหาริมทรัพย์จะถูกนำมาใช้ในการคำนวณค่าธรรมเนียมภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ในกรณีที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ รวมถึงการซื้อ-ขายที่ดินว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไร ในการทำนิติกรรมอสังหาริมทรัพย์
นอกจากประโยชน์ที่เจ้าของที่ดินจะได้จากการรู้ราคาประเมินที่ดินของตัวเองแล้ว สำหรับผู้ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การรู้ราคาประเมินที่ดินยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย ดังนี้
นำข้อมูลมาวิเคราะห์ศักยภาพของทำเลและศักยภาพของโครงการในอนาคตเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน
ใช้คิดคำนวณค่าใช้จ่าย ภาษีเงินได้ ภาษีอากร และภาษีแสตมป์ก่อนวันโอนจริง ทำให้การคำนวณค่าใช้จ่ายสามารถทำได้ล่วงหน้าและแม่นยำมากขึ้น
สามารถนำราคาประเมินไปประกอบการกำหนดราคาซื้อขายได้
สามารถใช้เป็นข้อมูลในการเจรจาและต่อรองในการลงทุน
ราคาประเมินที่ดินคือราคาที่ถูกประเมินโดยกรมธนารักษ์ และใช้ในการคำนวณค่าธรรมเนียมภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ระหว่างการทำนิติกรรมอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้สำหรับผู้ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การรู้ราคาประเมินที่ดินจากกรมธนารักษ์ยังมีประโยชน์ต่อการลงทุนมากมาย ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการประเมินค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ความแม่นยำในการกำหนดราคาขาย และอำนาจในการต่อรองเจรจาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ด้วย
โดยธรรมชาติของราคาประเมินที่ดิน และราคาประเมินในออนไลน์จะมีความเป็นไปได้ที่ราคาจะต่ำกว่าราคาตลาดที่ขายทั่วไป ซึ่งราคาประเมินที่ดินนั้นมักจะเป็นเพียงการประเมินราคาที่ดินเปล่า ไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง ทำให้อาจจะต้องนำราคานี้ไปคำนวณกับปัจจัยอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
เรียกได้ว่าสะดวกและง่ายดายมาก ๆ สำหรับใครที่อยากรู้ว่าราคาที่ดินแต่ละแห่งเท่าไร ก็สามารถเช็กราคาประเมินที่ดินออนไลน์ได้เองง่าย ๆ ไว้ประกอบการพิจารณาก่อนทำการซื้อ-ขายที่ดิน
แท็กที่เกี่ยวข้อง
เช็กราคาประเมินประเมินที่ดินออนไลน์หนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินกรมธนารักษ์ซื้อขายอสังหาราคาที่ดินที่ดินออนไลน์ราคาประเมินที่ดินที่ดินจากกรมธนารักษ์ราคาที่ดินออนไลน์รับรองราคาประเมิน