
"เงินประกันการใช้ไฟฟ้า" คืออะไร ? ถ้าอยากได้คืน เราจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง?
นับเป็นข่าวดีในสถานการณ์ข่าวร้ายรุมเร้าประเทศไทย ณ ขณะนี้ ทั้ง ปัญหาของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ "ไวรัสโคโรน่า" หรือ "โควิด-19" รวมถึงปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังได้รับกันทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลที่ถูกพูดถึง และได้รับความสนใจอย่างมาก ก็คือ “การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า”
แต่ดูจะเป็นคำศัพท์ที่ไม่คุ้นหูสักเท่าไร เราจึงจะพาทุกท่านมารู้จักเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้มากขึ้น และบอกเล่าวิธีการขอคืนเงินจำนวนนี้ ว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง เพราะถือเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนที่มีบ้านหรือมีกิจการส่วนตัว

ความหมายของ “เงินประกันการใช้ไฟฟ้า”
ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของ “เงินประกันการใช้ไฟฟ้า” ก่อน โดยขออธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ เมื่อเรามีบ้านหรือกิจการต่างๆ เราจะต้องไปขอใช้ไฟฟ้ากับผู้ให้บริการ นั่นคือการยื่นขอใช้ครั้งแรก นอกจากเอกสารต่างๆ ที่จะต้องเตรียมแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ขอใช้ไฟฟ้าอย่างเราๆ ต้องนำมาวาง ก็คือ “หลักประกันการใช้ไฟฟ้า” เพื่อเป็นหลักประกันการใช้ไฟฟ้า ค่าเบี้ยปรับ และหรือหนี้อื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงดอกเบี้ยที่เกิดจากหนี้ด้วย

โดยหากดูจากข้อมูลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้กำหนดเกณฑ์ค่าธรรมเนียมการขอใช้ไฟฟ้า ซึ่งแยกตามขนาดมิเตอร์ (แอมป์) หรือพูดง่ายๆ ก็คือแยะตามขนาดการใช้ไฟของบ้านอยู่อาศัย เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดในเรื่องของเงินประกันการใช้ไฟฟ้า จะพบว่ามีอัตราเริ่มต้นที่ 300 บาท ในขนาดมิเตอร์ 5(15) ไปจนถึง 12,000 บาท ในขนาดมิเตอร์ 30(100)

ทั้งนี้ หลักประกันการใช้ไฟฟ้ามีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่
1.เงินสด
2.พันธบัตรรัฐบาล
3.พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน
4.หนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคาร
5.หนังสือสัญญาค้ำประกันของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ และประกอบธุรกิจค้ำประกันตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรายชื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งเวียนให้ส่วนราชการต่างๆ ทราบ
โดยหลักประกันเหล่านี้ ผู้ขอใช้ไฟฟ้าอย่างเราจะเลือกใช้แบบไหนก็ได้ที่สะดวก ซึ่งเงินประกันนี้แหละ จะได้คืนก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นใน 5 กรณีนี้เท่านั้น ได้แก่
- 1.เลิกใช้ไฟฟ้า
- 2.ลดขนาดมิเตอร์หรือขนาดหม้อแปลงไฟฟ้า
- 3.โอนเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้า
- 4.เปลี่ยนแปลงประเภทหลักประกันการใช้ไฟฟ้า และสุดท้าย
- 5.ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลง และมีหนังสือขอคืนหลักประกัน

วิธีขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า
สำหรับ วิธีขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้แยกไว้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ประเภทบุคคล ต้องเตรียมสำนักบัตรประจำตัวของผู้วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้า และหลักฐานการวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า
2. ประเภทนิติบุคคล ประเภทนี้ต้องเตรียมสำเนาบัตรประจำตัวของผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล และของผู้รับมอบอำนาจ และสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่อายุไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่สำนักงานทะเบียนรับรอง
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้จะต้องยื่นเรื่องหลังจากแจ้งยกเลิกการใช้ไฟฟ้า และเครื่องวัด ฯ ได้ถอดกลับแล้ว หรือขอเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าและวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าเป็นพันธบัตรหรือสัญญาค้ำประกันธนาคารแทนเงินสด ที่สำคัญต้องชำระหนี้ค่าไฟฟ้าหรือหนี้ค้างชำระให้เรียบร้อยแล้วเท่านั้น
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี มีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายพิจารณาเร่งรัดออกแนวทางปฏิบัติ และรายละเอียดในการดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 21.5 ล้านราย สามารถใช้สิทธิในการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่วางไว้ตามขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ซึ่งมีวงเงินรวมที่จะมีสิทธิขอคืนประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยจะสามารถเริ่มทยอยคืนได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
ซึ่งเท่ากับว่า เราสามารถขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ทันทีตั้งแต่รอบบิลชำระค่าไฟฟ้าเดือนมีนาคม 2563 นี้ แม้ไม่ต้องเข้าเกณฑ์ 5 กรณีที่กำหนดไว้ และที่แน่นอนคือแต่ละครัวเรือนจะได้เงินคืนไม่เท่ากัน เพราะขึ้นอยู่ตามขนาดมิเตอร์ของแต่ละบ้านนั่นเอง

ทั้งนี้ส่วนรายละเอียดการขอคืนเงืนในมาตรการของรัฐบาลครั้งนี้ จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร เพจเฟซบุ๊คการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระบุไว้ว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ขณะนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง อยู่ในระหว่างการจัดทำ หลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนการจ่ายคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความพร้อม และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าให้มากที่สุด ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จะประกาศอย่าง เป็นทางการให้ทราบต่อไป โดยระบุเพิ่มเติมว่า เฉพาะบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก
โดยล่าสุด เบื้องต้นคาดว่าจะทยอยจ่ายคืนในรอบบิลค่าไฟฟ้าในเดือน เม.ย. โดยเจ้าของมิเตอร์จะต้องยื่นเรื่องขอรับเงินคืนกับ 2 การไฟฟ้า อยู่ที่ว่าบ้านใครอยู่พื้นที่ใด ซึ่งพื้นที่กฟน.จะรับผิดชอบครัวเรือน และโรงงานเอสเอ็มอีในเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ส่วนที่เหลือในพื้นที่ต่างจังหวัด อยู่ในความรับผิดชอบของ กฟภ. ส่วนการคืนอาจมีหลายรูปแบบ ทั้งผ่านแอปพลิเคชัน หรือยื่นผ่านสำนักงานโดยตรง
อย่างไรก็ดี หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว THAI HOME TOWN จะรายงานให้ทราบต่อไปนะครับ