
รวมจุดรับบริจากขยะพลาสติก 2563 เช่น ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก และแก้วพลาสติก เพื่อนำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ใหม่อีกครั้ง ช่วยลดขยะ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมวิธีคัดแยกก่อนส่งต่อ
พลาสติก เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทาน ยืดหยุ่นได้ ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง หากมีการกำจัดอย่างถูกวิธีก็จะช่วยลดปริมาณขยะและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องมลพิษและไมโครพลาสติก (Microplastic) หรือชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กมากที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ เช่น ทะเล หนึ่งในวิธีที่จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกได้ก็คือ การนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น DIY ของใช้ชิ้นใหม่ หรือส่งต่อให้องค์กรต่าง ๆ เพื่อเอาไปรีไซเคิล ตัวอย่างเช่นจุดรับบริจาคพลาสติกทั้ง 8 แห่งนี้
วิธีคัดแยกก่อนส่งต่อ
ก่อนจะบริจาคควรนำไปล้างเพื่อทำความสะอาดกำจัดสิ่งสกปรกออกก่อน เช่น เศษอาหาร เพราะเป็นขยะที่มีความชื้นสูง หากมีการปนเปื้อนไปกับขยะพลาสติกก็จะทำให้การนำกลับไปใช้ใหม่และกำจัดยากขึ้น จากนั้นตากให้แห้ง แล้วคัดแยกตามประเภทพลาสติกโดยสังเกตจากสัญลักษณ์พลาสติกที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ แล้วก็ส่งไปให้องค์กรหรือสถานที่ที่รับบริจาคเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อได้เลย

1. โครงการวน (Won)
โครงการจากกลุ่มคนเล็ก ๆ ในเครือ บ. ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ที่อยากจะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาใช้ พร้อมกับให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง เปิดรับพลาสติกยืดได้ เช่น ถุงพลาสติก ฟิล์มหุ้มฝาขวดน้ำ พลาสติกกันกระแทก ถุงใส่อาหาร ฯลฯ กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้โดยการนำพลาสติกที่ใช้แล้วไปทำความสะอาดแล้วตากให้แห้งสนิท แล้วนำไปส่งตามจุดรับหรือที่อยู่ของโครงการ นอกจากนี้พลาสติกทุก ๆ 1 กิโลกรัม จะคิดเป็นเงิน 5 บาท เพื่อนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
คลิกดูแผนที่ใหญ่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- ที่อยู่ : "โครงการ วน" บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) 42/174 หมู่ 5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210
- เฟซบุ๊ก : Won

2. โครงการ Green Road
โครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ผศ. ดร. เวชสวรรค์ หล้ากาศ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดรับขยะพลาสติก PE (Polyethylene) และพลาสติก PP (Polypropylene) ถุงแกงร้อน ถุงนมโรงเรียน ถุงที่ยืดได้ ถุงหูหิ้วพลาสติก และพลาสติกบับเบิ้ลห่อพัสดุ เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นบล็อกปูถนน 1 ตารางเมตร ใช้ถุงพลาสติกประมาณ 4,000 ใบ โดยสามารถนำไปส่งด้วยตัวเองที่สาขาวิศวกรรมเทคโนโลยีการก่อสร้าง ม.ราชภัฏเชียงใหม่ หรือส่งไปที่โครงการผ่านทางไปรษณีย์ก็ได้
คลิกดูแผนที่ใหญ่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- ที่อยู่ : ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ (โครงการกรีนโรด) 9/9 ม.1 ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน 51000
- เบอร์โทรศัพท์ : 081-716-2525
- เฟซบุ๊ก : GREEN ROAD

3. โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน
โครงการจากเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network – TRBN) ประกอบด้วยองค์กรธุรกิจจากเอกชนและหน่วยงานจากภาครัฐกว่า 24 องค์กร เพื่อเป็นต้นแบบในการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เปิดรับทั้งพลาสติกยืดและพลาสติกแข็ง เช่น ถุง กล่องใส่อาหาร ฝาขวด ขวดพาสติก รวมถึงฟิล์ม โดยทำความสะอาดแล้วนำไปบริจาคที่จุด Drop Point ของโครงการ เช่น ห้างแล้วพลาสติกเหล่านี้ก็จะถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลพลาสติก เพื่อเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อีกครั้งตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

4. โครงการบริจาคขยะพลาสติกเป็นขุมทรัพย์พลังงานไฟฟ้า
โครงการจาก อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส เปิดรับบริจาคขยะพลาสติกเพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เช่น ขวดพลาสติกใส ถุงพลาสติก หรือขยะพลาสติกที่ไม่มีส่วนผสมของ PVC (Polyvinylchloride) ได้แก่ สายยางหรือท่อพีวีซี โดยนำไปทำความสะอาดและส่งต่อไปยังจุดรับบริจาคในเทศบาลต.แพรกษาใหม่ หรือผ่านทางไปรษณีย์ ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 กันยายน 2563
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- ที่อยู่ : แผนกประชาสัมพันธ์และกิจกรรมองค์กร บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด เลขที่ 168/1 หมู่ 5 ซ.มังกร-นาคดี ถ.พุทธรักษา ต.แพรกษาใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ 10280
- เบอร์โทรศัพท์ : 061-656-2489 และ 02-755-3098 ต่อ 200
- เฟซบุ๊ก : Eastern Energy Plus Co.,Ltd.

5. โครงการต่ออายุหลอด
โครงการจากมูลนิธิพลังที่ยั่งยืนของ ปตท. เปิดรับบริจาคหลอดใช้แล้ว ไปเปลี่ยนเป็น "หมอนหลอด" ช่วยบรรเทาอาการเกิดแผลกดทับ นอกจากนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางใหม่เพื่อนำขยะหลอดพลาสติกกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการสร้างความตระหนักในการลด ละ เลิกใช้หลอดพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีวิธีคัดแยกง่าย ๆ 3 ขั้นตอน คือ นำหลอดที่ใช้แล้วไปล้าง จากนั้นก็ตากให้แห้งสนิท แล้วตัดหลอดให้ได้ขนาด 1 เซนติเมตร ก่อนนำไปทำความสะอาดและตากให้แห้งสนิทอีกครั้ง เพื่อใช้บรรจุเป็นไส้หมอน โดยหมอน 1 ใบ จุปริมาณได้ 14.5 ถ้วยตวงหรือ หลอด 2,000 ชิ้น ต่อหมอน 1 ใบ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

6. โครงการผ้าบังสุกุล-จีวร จากขวดพลาสติกรีไซเคิล
โครงการของวัดจากแดง รับบริจาคขวดพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง ไปรีไซเคิลเป็นผ้าบังสุกุล-จีวร โดยขวดน้ำพลาสติก 60 ขวด สามารถเปลี่ยนเป็นจีวรได้ 1 ชุด โดยใช้เทคโนโลยี Upcycling แปรรูปขยะเป็นเส้นใยรีไซเคิล เพื่อนำไปถักทอผสมกับเส้นใย Polyester Rayon เส้นใยฝ้าย และเส้นใย โพลีเอสเตอร์ ซิงค์ แอนตี้แบคทีเรีย (Polyester Zinc Antibacterial) ที่ช่วยป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ มีความนุ่ม ระบายอากาศได้ดี สวมใส่สบาย เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- ที่อยู่ : พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง ถ.เพชรหึงษ์ ซ. 10 ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 10130
- เว็บไซต์ : https://watchakdaeng.com/
- เบอร์โทรศัพท์ : 066-159-9558

7. โครงการ Precious Plastic Bangkok
อีกหนึ่งโครงการจากประเทศเนเธอรืแลนด์ ที่มีเป้าหมายเพื่อนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล และช่วยกระตุ้นให้ทุกคนหันมาสนใจเรื่องมลพิษและให้ความสำคัญกับการใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากกว่าการนำไปทิ้งให้เศษขยะ ตอนนี้เปิดรับบริจาคพลาสติ HDPE (High-density Polyethylene) เช่น ถุงพลาสติก และพลาสติก PP (Polypropylene) เช่น ถุงร้อนและฝาขวดน้ำพลาสติก ซึ่งตอนนี้สามารถส่งได้ฟรีผ่าน speedD ถึง 23 ต.ค. 2563 นี้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- ที่อยู่ : Precious Plastic Bangkok@FREC Bangkok ชั้น 1 77 ถ.นครสวรรค์ แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
- เฟซบุ๊ก : Precious Plastic Bangkok


8. N15 Technology
อีกหนึ่งสถานที่รับบริจาคขยะพลาสติกเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงาน เช่น ถุงพลาสติกต่าง ๆ แก้วพลาสติก วัสดุห่อพัสดุกันกระแทน รวมถึงขยะอื่น ๆ ได้แก่ เสื้อผ้าเก่า ปากกา สามารถร่วมกันส่งต่อง่าย ๆ เพียงแค่เทอาหารหรือของเหลวออกจากภาชนะ ตากให้แห้ง แล้วเก็บรวบรวมส่งไปตามที่อยู่โครงการได้เลย ตั้งแต่วันนี้ถึง 23 ตุลาคม 2563
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- ที่อยู่ : บจก. N15 เทคโนโลยี (สมบูรณ์ 086334612) 700/754 ม.1 ต.พานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี 20160
- เบอร์โทรศัพท์ : 086-3342-612
- เฟซบุ๊ก : N15 Technology
ขยะพลาสติก หากกำจัดอย่างถูกวิธีก็จะสร้างมลพิษ แต่จะดีกว่าหากพลาสติกเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ขวดพลาสติก หรือแก้วพลาสติก จะถูกคัดแยกอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง และนำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น รีไซเคิลเป็นของใช้หรือการนำไปเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ก็จะช่วยลดปริมาณขยะและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน, เฟซบุ๊ก ส่งพลาสติกกลับบ้าน, เฟซบุ๊ก Won, เฟซบุ๊ก Precious Plastic Bangkok, เฟซบุ๊ก : GREEN ROAD, วัดจากแดง, เฟซบุ๊ก Eastern Energy Plus Co.,Ltd. และเฟซบุ๊ก N15 Technology