
“ ในปัจจุบันรถไฟฟ้า ได้มีการก่อสร้างขึ้นในหลายๆ จุด ของกรุงเทพมหานคร และบางส่วนก็ได้เปิดใช้บริการแล้ว เมื่ิอไม่นานมานี้ การเดินทางด้วยรถไฟฟ้านั้นมีความสะดวกสบาย ทำให้การเดินทางเข้าออกเมืองเป็นเรื่องที่ง่าย และประหยัดเวลาขึ้นมากสำหรับคนเมือง ซึ่งตอนนี้กำลังจะมีรถไฟฟ้าสายใหม่เกิดขึ้นที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 นี้ จาก เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ นั้นก็คือ สายสีม่วงใต้นั้นเอง วันนี้เราจะมาอัพเดทข้อมูลของรถไฟฟ้าสายนี้กันครับ ” 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. จะแบ่งประมูลเป็น 6 สัญญา ประกอบด้วย งานใต้ดิน 4 สัญญา ทางยกระดับ 1 สัญญา และระบบราง 1 สัญญา อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารประกวดราคาและอนุมัติร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างปี 2564 เปิดบริการปี 2569
โครงการมีค่าเวนคืน 15,913 ล้านบาท จำนวน 410 แปลง หรือ 102 ไร่ อาคารสิ่งปลูกสร้าง 267 หลังคาเรือน มีจุดขึ้น-ลง 17 สถานี จุดใหญ่อยู่ที่ด่านเก็บเงินสุขสวัสดิ์ ถนนกาญจนาภิเษก เมื่อสร้างเสร็จจะเชื่อมการเดินทาง 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ กรุงเทพฯ และนนทบุรี คาดการณ์ผู้โดยสาร 477,098 เที่ยวคน/วัน

คลิกดูแผนที่เส้นทางแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ
แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ 
แนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่สถานีเตาปูน เป็นทางยกระดับตามแนวถนน ง.8 ข้ามคลองบางซื่อ โดยเปลี่ยนเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหาร ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (โรงเรียนโยธินบูรณะเดิม) โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถนนราชดำเนินกลาง แยกผ่านฟ้าลีลาศ เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดตารามวรวิหาร เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะเปลี่ยนเป็นโครงสร้างยกระดับวิ่งไปตามกลางถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกดาวคะนอง ข้ามสะพานแยกพระราม 2 ผ่านแยกประชาอุทิศ ข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดที่ครุใน
รวมระยะทาง 23.6 กิโลเมตร
- โดยเป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร
- โครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 11 กิโลเมตร
รวมสถานีทั้งสิ้น 17 สถานี
- สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

ตำแหน่งที่ตั้งสถานีใต้ดิน
1. สถานีรัฐสภา ตั้งอยู่ใต้ถนนสามเสน บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (โรงเรียนโยธินบูรณะเดิม)
2. สถานีศรีย่าน ตั้งอยู่ใต้ถนนสามเสน บริเวณด้านหน้ากรมชลประทาน
3. สถานีสามเสน ตั้งอยู่ใต้ถนนสามเสน บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลวชิรพยาบาล
4. สถานีหอสมุดแห่งชาติ ตั้งอยู่ใต้ถนนสามเสน บริเวณด้านหน้าหอสมุดแห่งชาติ และสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย
5. สถานีบางขุนพรหม ตั้งอยู่ใต้ถนนสามเสน บริเวณด้านหน้าวัดเอี่ยมวรนุช
6. สถานีผ่านฟ้า ตั้งอยู่ใต้ถนนพระเมรุ บริเวณหน้าร้านอาหารนิวออร์ลีนส์ เชื่อมสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์
7. สถานีสามยอด ตั้งอยู่ใต้ถนนมหาไชย บริเวณด้านหน้าสวนรมณีนาถ ใกล้แยกสามยอด เป็นสถานีร่วมของสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค
8. สถานีสะพานพุทธ ตั้งอยู่ใต้ถนนประชาธิปก บริเวณก่อนถึงสี่แยกบ้านแขก
9. สถานีวงเวียนใหญ่ ตั้งอยู่ใต้ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน บริเวณใกล้วงเวียนใหญ่ เชื่อมกับสายสีเขียวช่วงยศเส-บางหว้า และรถไฟฟ้าสายสีแดงหัวลำโพง-มหาชัย
10. สถานีสำเหร่ ตั้งอยู่ใต้ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ตำแหน่งที่ตั้งสถานียกระดับ
11. สถานีดาวคะนอง ตั้งอยู่บนถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ระหว่างซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 44 และคลองบางสะแก
12.สถานีบางปะแก้ว ตั้งอยู่บนถนนสุขสวัสดิ์ ระหว่างซอยสุขสวัสดิ์ 12 ถึงปากซอยสุขสวัสดิ์ 14
13.สถานีบางปะกอก ตั้งอยู่บนถนนสุขสวัสดิ์ ระหว่างซอยสุขสวัสดิ์ 32 ถึงปากซอยสุขสวัสดิ์ 34 มีอาคารจอดรถแล้วจร ตั้งอยู่ระหว่างซอยสุขสวัสดิ์ 23 ถึงซอยสุขสวัสดิ์ 25
14.สถานีสะพานพระราม 9 ตั้งอยู่บนถนนสุขสวัสดิ์ ระหว่างปากซอยสุขสวัสดิ์ 44 ถึงธนาคารกรุงเทพ สาขาราษฎร์บูรณะ
15.สถานีราษฎร์บูรณะ ตั้งอยู่บนถนนสุขสวัสดิ์ คร่อมคลองแจงร้อน มีอาคารจอดแล้วจร 2 อาคาร ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก
16.สถานีพระประแดง ตั้งอยู่บนถนนสุขสวัสดิ์ บริเวณใกล้สามแยกพระประแดง
17.สถานีครุใน ตั้งอยู่บนถนนสุขสวัสดิ์ ระหว่างปากซอยสุขสวัสดิ์ 70 ถึงคลองเจ็กทิม
อาคารจอดแล้วจร ของรถไฟฟ้าสายสีมม่วงใต้
อาคารจอดแล้วจรจะมีอยู่ทั้งหมด 2 สถานี คือ สถานีบางปะกอก และ สถานีราษฎร์บูรณะ

อาคารจอดแล้วจรบางปะกอก ตั้งอยู่ที่สถานีบางปะกอก
- สูง 10 ชั้น จอดรถยนต์ได้ประมาณ 1,640 คัน

อาคารจอดแล้วจร ราษฎร์บูรณะ ตั้งอยู่ที่สถานีราษฎร์บูรณะ มี 2 อาคารได้แก่
- อาคารที่ 1 : สูง 10 ชั้น จอดรถยนต์ได้ประมาณ 495 คัน
- อาคารที่ 2 : สูง 10 ชั้น จอดรถยนต์ได้ประมาณ 864 คัน
โรงจอดรถไฟฟ้า อาคารซ่อมบำรุง ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

ตั้งอยู่บริเวณถนนกาญจนาภิเษกวงแหวนใต้ (ข้างด่านเก็บค่าผ่านทางบางพลี-สุขสวัสดิ์) ด้านขาเข้าเมือง ประกอบด้วยกลุ่มอาคารที่สำคัญต่างๆ ดังนี้
- อาคารจอดรถไฟฟ้า
- อาคารซ่อมบำรุง
- อาคารบริหารและศูนย์ควบคุมการเดินรถ
- ลานล้างรถไฟฟ้า
- อาคารทดสอบรถไฟฟ้า
รถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่เปิดบริการแล้วช่วง บางใหญ่-บางซื่อ 

คลิกดูแผนที่แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เส้นทาง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร รวม 17 สถานี ก็มีแผนจะเริ่มสร้างในปี 2564 นี้ ส่วนในปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ นั้น ก็ได้เปิดบริการมาแล้วเกือบ 4 ปี เส้นทางนี้สามารถพาเราไปที่ไหนได้บ้าง วันนี้เราจะมาแนะนำกันครับ
สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง
รถไฟฟ้าสายสีม่วง เชื่อมต่อย่านเตาปูนในกรุงเทพฯ และย่านบางใหญ่ในจังหวัดนนทบุรี ทำให้สะดวกสบายต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในละแวกดังกล่าว ทั้งยังทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดนนทบุรีนั้นง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยมีระยะทางกว่า 23 กิโลเมตร วิ่งไปตามถนนสายหลัก 4 สาย ได้แก่ ถนนกาญจนาภิเษก, ถนนรัตนาธิเบศร์, ถนนติวานนท์ และถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี รวม 16 สถานี และในอนาคตก็จะเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้า สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ นั่นเอง
เส้นทางนี้สามารถเดินทางไปไหนได้บ้าง
เส้นทางการให้บริการของ รถไฟฟ้า สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ นั้น นอกจากจะผ่านแหล่งที่พักอาศัยแล้ว ยังผ่านสถานที่สำคัญอื่น ๆ ด้วย เช่น ศูนย์ราชการนนทบุรี, บมจ.ไทยคม, บมจ. ปูนซีเมนต์ไทย, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์, โรงพยาบาล การุญเวช รัตนาธิเบศร์, โรงพยาบาลพระนั่งเกล้านนทบุรี, สถาบันโรคทรวงอก และโรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นต้น ซึ่งนับว่าสะดวกสบายต่อคนใช้บริการอย่างมาก
ส่วนสถานที่เที่ยวอื่น ๆ ตามแนวรถไฟฟ้าเส้นนี้ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ก็มีมากมายหลายแห่ง ดังนี้

1. สถานีตลาดบางใหญ่
สามารถไปยังแหล่งช้อปปิงอย่าง เซ็นทรัลพลาซ่า เวสต์เกต ได้ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่ได้รับความนิยมมากในย่านนี้ เพราะเป็นศูนย์รวมความบันเทิงและไลฟ์สไตล์ให้ได้เพลิดเพลินมากมาย รวมถึงมีทุกอย่างครบไม่ว่าจะเป็น ร้านอาคาร คาเฟ่ โรงภาพยนตร์ ธนาคาร สถาบันการเงิน ศูนย์ความงาม ศูนย์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ร้านค้าของแบรนด์ต่าง ๆ กว่า 500 แบรนด์ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก

2. สถานีบางพลู
สามารถเดินต่อไปตามถนนบางกรวย-ไทรน้อย เพื่อไปยังวัดบางไผ่ (วัดอารามหลวง) ได้ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ที่มีความเก่าแก่และเป็นที่เคารพของชาวนนทบุรีเป็นอย่างมาก สามารถมาไหว้พระ ทำบุญ หรือเดินชมความสวยงามของอารามหลวงแห่งนี้ได้

3. สถานีคลองบางไผ่
สามารถนั่งรถเมล์ต่อไปยัง วัดเล่งเน่ยยี่ 2 (วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์) ได้ ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นวัดจีนที่เผยแพร่พุทธศาสนานิกายมหายาน ที่คนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพนับถืออย่างมาก มีสถาปัตยกรรมแบบจีนที่สวยงาม มีการออกแบบคล้ายพระราชวังเก่าแก่ของจีน ควรค่าแก่การมาเที่ยวชม ทั้งยังเป็นที่นิยมในการมาขอพรและเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต รวมไปถึงมีการจัดพิธีแก้ปีชงที่คนทั่วไปนิยมมาที่นี่กันด้วย

4. สถานีบางซ่อน
สามารถไปเที่ยวช้อปปิงตลาดวินเทจได้ที่ ชุมทางสยามยิปซี ตลาดที่ขายของคลาสสิคและสินค้าแนววินเทจ ด้วยการเนรมิตให้กลายเป็นตลาดที่มีกลิ่นอายของความเก่า ร้านค้าดูมีสไตล์ย้อนยุคเหมือนห้องแถวไม้ในช่วงยุค ’90 สินค้าก็มีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้าแฟชั่น งานแฮนด์เมด งานศิลปะ ของเก่า ของสะสมสไตล์วินเทจ รวมไปถึงมีของกินอร่อย ๆ อีกเพียบ

5. สถานีแยกติวานนท์
สามารถเดินย้อนลงไปทางถนนติวานนท์ แล้วนั่งรถโดยสารประจำทางต่อไปยังท่าน้ำนนท์ได้ ท่าน้ำนนทบุรีเป็นท่าเรือที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีจุดเด่นสำคัญคือ หอนาฬิกาที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของเมืองนนทบุรี นอกจากที่นี่จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยเรือด่วนเจ้าพระยาแล้ว ยังเป็นแหล่งของกินที่ผู้คนนิยมกันอีกด้วย พลาดไม่ได้กับร้านอร่อย อาทิ ร้านก๋วยเตี๋ยวเมืองนนท์, เกาเหลาเมืองนนท์, ก๋วยจั๊บคุณน้อย, นนท์ตำแหลก เป็นต้น และร้านขนมเบเกอรี่ที่ถ้าไม่แวะก็ถือว่ามาไม่ถึงเมืองนนท์ นั่นก็คือ ร้านนนท์เบเกอรี่ ที่ได้รับความนิยมทั้งชาวนนทบุรีเอง และชาวกรุงเทพฯ ด้วย

6. สถานีสะพานพระนั่งเกล้า
สามารถไปเที่ยวเกราะเกร็ด สัมผัสวิถีชีวิตชาวมอญ และชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีอาชีพทำหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผามาอย่างยาวนาน ชมพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา แวะชิมขนมไทย และอาหารชาวมอญโบราญ ทั้งยังนั่งเรือหางยาว เพื่อแวะชมพระเจดีย์มุเตา วัดปรมัยยิกาวาส หรือวัดเจดีย์เอียง ที่ถือเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเกราะเกร็ดได้อีกด้วย
“ เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับการอัพเดทรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 นี้ โดยเมื่อสร้างเสร็จจะเชื่อมต่อการเดินทางถึง 3 จังหวัด ก็คือ สมุทรปราการ กรุงเทพฯ และนนทบุรีเลยครับ ทำให้การเดินทางเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ทั้งสะดวกและรวดเร็ว ใครที่อยากใช้บริการคงต้องรออีกสักหน่อยนะครับ เพราะทางรฟม. คาดว่าจะเปิดให้ใช้ในปี 2569 ครับ ” 