
สาระไทยโฮมทาวน์ จะพาไปทำความรู้จักกับอิฐแต่ละประเภทกันว่ามีลักษณะอย่างไร และมีส่วนประกอบอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้แยกประเภทของอิฐได้อย่างถูกต้อง และคำถามยอดฮิตสำหรับคนกำลังจะสร้างบ้าน คือ ควรเลือกใช้อิฐอะไรดี เนื่องจากมีอิฐหลายชนิดให้เลือกใช้สำหรับงานก่อสร้าง โดยผู้รับเหมางานผนัง การก่ออิฐ ทั้งอิฐมอญ อิฐมวลเบา และอิฐบล็อก อีกทั้งอิฐแต่ละชนิดยังมีคุณสมบัติแตกต่างกัน รวมทั้งมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกอิฐให้เหมาะกับการสร้างบ้านนั่นส่งผลต่อโครงสร้างและความแข็งแรงของบ้าน ดังนั้นเรามาทำความรู้จักอิฐแต่ละชนิดกัน เพื่อที่จะได้แยกประเภทของอิฐได้อย่างถูกต้อง สามารถเลือกมาใช้ในงานก่อนสร้างได้อย่างเหมาะสม

เพื่อการก่อสร้างบ้านที่แข็งแรง ทนทาน ได้มาตรฐาน การเลือก "อิฐ" วัสดุที่ใช้สำหรับการก่อสร้าง เป็นหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องสำคัญ คิดสร้างบ้านต้องรู้ โดยหลัก ๆ แล้ว อิฐที่นิยมใช้จะมี 3 ประเภทด้วยกัน แต่จะเลือกอิฐแบบไหนให้เหมาะกับบ้าน สาระไทยโฮมทาวน์ มีข้อมูลของอิฐของอิฐแต่ละชนิด การเลือกอิฐแบบไหนตรงกับความต้องการที่สุด คุ้มค่ากับการใช้งาน ประหยัดงบค่าก่อสร้างได้เป็นอย่างดี และขอแนะนำอิฐชนิดใหม่ ที่มีความแข็งแรงที่สุดมาแน่นำด้วยท้ายบทความ นำมาฝากกัน
ความแตกต่างระหว่าง อิฐมอญ อิฐมวลเบา และอิฐบล็อก

อิฐมอญ
วัสดุก่อสร้างที่หาได้ง่าย มีเอกลักษณ์คือสีแดง ผลิตมาจากการเผาดินเหนียว เพื่อให้ได้วัสดุที่คงรูปและมีความแข็งแรง เป็นอิฐที่ใช้ในงานก่อสร้างมาหลายสิบปี เพราะมีคุณสมบัติพิเศษที่ความคงทนต่อสภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย ทนแดด ทนฝน ได้ดี จึงนิยมนำมาใช้กับงานผนังโดยเฉพาะบริเวณที่ใช้งานเฉพาะช่วงกลางวัน หรือบริเวณภายนอกบ้าน สามารถผลิตได้เองในประเทศไทยจึงราคาถูก ช่างทั่วไปมีความชำนาญ
ข้อดีของอิฐมอญ
- สามารถหาซื้อได้ง่ายราคาถูก และหาช่างก่อได้ง่าย
- ทนทานต่อสภาพความร้อน
- รับน้ำหนักในการเจาะแขวนได้ดีกว่าอิฐประเภทอื่น
- มีขนาดเล็กจึงสามารถใช้ต่อเติมในพื้นที่เล็กได้ดี
ข้อเสียของอิฐมอญ
- สะสมความร้อนได้ดีจึงทำให้บ้านร้อนกว่าอิฐประเภทอื่น
(แต่สามารถแก้ไขโดยการก่ออิฐ 2 ชั้น)
- มีขนาดเล็กใช้เวลาในการก่อนานกว่าประเภทอื่น
- ขนาดไม่มาตรฐานต้องฉาบปูนหนาเพื่อให้ได้ระดับที่เสมอกัน
- ดูดซึมน้ำสูงจึงต้องแช่อิฐในน้ำก่อนการก่อผนัง

การใช้งานอิฐมอญ
ต้องทำการก่อด้วยปูนซีเมนต์ผสมทราย(ปูนมอร์ตาร์) หนา 2-3 ซม.โดยรอบ จึงจะทำให้มีความแข็งแรงในการรับน้ำหนัก เช่น แขวนทีวี แขวนตู้ลอย นอกจากงานผนังแล้วยังนำมาใช้กับงานเก็บรายละเอียดเล็กๆ อย่าง การเจาะช่องประตู หน้าต่าง หรือปิดช่องแคบๆ ได้โดยไม่ต้องตัดอิฐให้เหลือเศษเยอะอีกด้วย
อิฐบล็อก หรือคอนกรีตบล็อก

ถูกผลิตมาเพื่อใช้ในงานลักษณะอุตสาหกรรมมากกว่า อิฐมอญ ส่วนใหญ่จะมีสีเทา ลักษณะเด่นคือมีรูกลวงตรงกลางซึ่งเป็นข้อดีของอิฐประเภทนี้ เพราะช่วยลดการถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญ ได้รับความนิยมมากกว่าอิฐมอญเพราะมีราคาถูกมาก ถูกที่สุดเมื่อเทียบกับอิฐชนิดอื่นๆ สะดวกในการก่อสร้าง งานเสร็จรวดเร็วกว่า เพราะมีขนาดก้อนใหญ่
ข้อดีของอิฐบล็อก
- มีราคาถูกกว่าอิฐประเภทอื่นๆ
- ประหยัดเวลาในการก่อเพราะมีขนาดใหญ่จึงก่อได้รวดเร็ว
- ขนาดก้อนมีมาตรฐานมากกว่าอิฐมอญ
- ระบายความร้อนได้ดีเนื่องจากมีรูอยู่ตรงกลาง
ข้อเสียของอิฐบล็อก
- มีโอกาสรั่วซึมได้มากกว่าอิฐประเภทอื่น
- มีความทนทานน้อยกว่าการก่อด้วยอิฐมอญ รับน้ำหนักในการเจาะแขวนได้น้อย

การใช้งานอิฐบล็อก
เหมาะกับการก่อผนังอาคารทั่วไป เพราะมีคุณสมบัติเด่นอยู่ที่ มีความแข็งแรง รับแรงกดได้ และระบายความร้อนได้ดี หรือจะเป็นการก่อสร้าง อาคาร โกดัง โรงงาน ที่ต้องการประหยัดงบระมาณ และต้องการให้งานเสร็จไว

อิฐมวลเบา หรือคอนกรีตมวลเบา
ขนาดความกว้าง 20 ซม. ยาว 60 ซม. ความหนา 7, 7.5 ซม. เป็นวัสดุก่อสร้างที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะมีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนได้มากกว่าอิฐชนิดอื่น โดยมีส่วนผสมมาจาก ทราย ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนขาว น้ำ ยิปซั่ม และผงอลูมิเนียม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ ฟองอากาศเล็กๆ เป็นรูพรุนไม่ต่อเนื่องที่อยู่ในเนื้อวัสดุมากประมาณ 75% ทำให้อิฐชนิดนี้มีน้ำหนักเบา ช่วยให้ประหยัดโครงสร้าง รวมถึงฟองอากาศเหล่านี้ยังเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดี นอกจากนี้ อิฐมวลเบา ยังมีคุณสมบัติที่เด่นกว่าอิฐประเภทอื่นคือ ทนทานต่อไฟ แข็งแรง รับแรงกดได้มาก สะดวกในการก่อสร้าง ใช้เวลาไม่นาน
ข้อดีของอิฐมวลเบา
- มีน้ำหนักเบา ขนย้ายสะดวก
- ติดตั้งได้รวดเร็วเพราะมีขนาดใหญ่
- ไม่สิ้นเปลืองปูนในการก่อเพราะอิฐมีขนาดที่ได้มาตรฐาน
- มีรูพรุนทั่วทั่งก้อนจึงเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี
- ตัวอิฐสามารถดูดซับเสียงได้จึงกักเก็บเสียงได้ดี
ข้อเสียของอิฐมวลเบา
- มีราคาสูงกว่าอิฐประเภทอื่น
- ต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญในการก่อเพื่อให้ผนังได้มาตรฐาน
- ต้องมีอุปกรณ์เฉพาะอิฐมวลในการก่อไม่สามารถใช้ปูนร่วมกับอิฐประเภทอื่นได้
- ในการเจาะผนังอิฐมวลเบาต้องใช้พุกเฉพาะอิฐมวลเบาเพื่อยึดเกาะ
- อิฐมีรูพรุนดูดซับความชื้นจึงไม่เหมาะกับการก่อสร้างห้องน้ำ

การใช้งานอิฐมวลเบา
เหมาะกับการก่อสร้างในส่วนผนังหลักของบ้าน กับผนังคอนกรีตมวลเบาทั่วไปภายในอาคาร บ้าน หรือห้องที่ต้องการความเย็นสบาย และเก็บเสียงได้ดี ซึ่งสิ่งสำคัญในการนำ อิฐมวลเบามาใช้ก็คือ ช่างที่ทำการก่อสร้างต้องมีประสบการณ์และมีฝีมือดี เพื่อให้ได้ผนังอิฐมวลเบาที่มีคุณภาพ

อิฐเซรามิก หรือ อิฐพันปี
เป็นอิฐที่นำข้อดีของอิฐมอญและอิฐมวลเบามารวมกัน คือสามารถรับน้ำหนักได้มาก แต่น้ำหนักไม่หนักมาก มีลักษณะ และต้นกำเนิดคล้ายๆกับอิฐมอญ คือ มีลักษณะเป็นสีแดงส้ม ทำจากดินเผาเช่นเดียวกับอิฐมอญ แต่ผ่านกระบวนการเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า มากกว่า 1000 องศาเซลเซียส (จึงได้ชื่อว่าเป็น อิฐเซรามิก) ทำให้มีความแข็งแรงสูงกว่า และที่สำคัญทำให้มีรูพรุนต่ำ ดูดซึมน้ำได้น้อยมาก ซึ่งช่วยลดปัญหาที่จะตามมาได้มากมาย
ข้อดีของอิฐเซรามิก
- มีความแข็งแรง ทนทานสูงที่สุดเทียบกับอิฐชนิดอื่นๆ
- เวลาเจาะแขวน สามารถใช้พุ๊กแบบธรรมดาได้เลย
- มีขนาดเป็นมาตรฐาน ก้อนใหญ่เช่นเดียวกับอิฐมวลเบา ทำให้ขนส่งง่าย ก่อได้รวดเร็ว
- ออกแบบให้มีระบบอินเตอร์ล็อค มีเดือยตัวผู้ตัวเมีย ช่วยในการก่อให้ง่ายดาย และมีระเบียบ ทั้งนี้เมื่อก่อได้อย่างมีระเบียบ ยังทำให้ประหยัดเนื้อปูนในการฉาบให้ได้พื้นผิวเรียบ
- มีค่าดูดซึมน้ำต่ำกว่าอิฐมวลเบาถึง 6 เท่า ช่วยลดปัญหาอิฐดูดซึมน้ำจากปูนฉาบเร็วเกินไป จนทำให้ปูนฉาบแตกร้าว ต้องซ่อมแซมภายหลัง ลดปัญหาสีหลุดร่อน เชื้อราขึ้น อันเนื่องมาจากอิฐชื้นจากการรั่วซึมของน้ำเข้าไปในอิฐ
ข้อเสียของอิฐเซรามิก
- ราคาตลาด ค่อนข้างสูง
- ตลาดซื้อขายมีน้อย และหายากกว่า
- การผลิดที่ช้ากว่าอิฐทั่วไป รอนานในการสั่งผลิต
จุดเด่นของอิฐเซรามิก
มีขนาดใหญ่ แข็งแกร่ง และมีอัตราดูดซึมน้ำต่ำ ช่วยลดปัญหาปูนฉาบแตกร้าว และปัญหาสีพองหลุดล่อน ที่เกิดจากความชื้นในผนัง
อิฐเซรามิกเหมาะกับงานแบบใดบ้าง
1. การก่อกำแพง ผนังบ้าน งานพื้นฐานสำหรับการใช้อิฐเซรามิกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีความคงทน สามารถรับน้ำหนักได้มากพอสมควร และดูดซึมน้ำได้ต่ำ จึงถูกนำมาก่อเป็นผนังและกำแพงบ้านอยู่เสมอ
2. ใช้ในการตกแต่งสวน โดยเฉพาะการทำบ่อปลา แนวรั้วกันต้นไม้ เพราะนอกจากมีความคงทนแล้ว อิฐชนิดนี้ยังสามารถตัด กรีด เจาะได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ทำให้ผู้ที่ชอบตกแต่งสวนใช้ได้อย่างเต็มที่
3. ทำเตาผิง เตาไฟ นอกจากการทำผนังธรรมดาแล้ว อิฐเซรามิกที่มีคุณสมบัติทนความร้อนและถ่ายเทความร้อนได้ดียังถูกนำไปทำเตาผิง หรือเตาไฟสำหรับอบได้อีกด้วย

การใช้งานอิฐเซรามิก
อิฐเซรามิกเองก็มีข้อควรระวังในการใช้งานได้เช่นกัน เนื่องจากรูปทรงของอิฐนั้นจะแตกต่างออกไปตามแบรนด์ที่ผลิต ดังนั้นอาจต้องเลือกอิฐที่มีรูปทรงไปในแนวทางเดียวกัน หรือใช้แบรนด์เดียวในการทำงานเพื่อการก่อฉาบที่ง่ายขึ้น
อีกทั้งความคงทนและการดูดซึมน้ำยังแตกต่างออกไปตามแบรนด์และวัสดุอีกด้วย ทางผู้ซื้อจึงต้องมีการสังเกตและเลือกอิฐแบรนด์ที่ได้มาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือสูง

เปรียบเทียบคุณสมบัติของอิฐแต่ละชนิด
จำนวนการใช้งานต่อตารางเมตร และความเร็วในการก่อ ขนาดของตัวอิฐที่มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลต่อความรวดเร็วในการก่อสร้าง
- อิฐมวลเบา 8.33 ก้อน/ตร.ม., 15-25 ตร.ม./วัน
- อิฐมอญ 120-135 ก้อน/ตร.ม., 6-12 ตร.ม./วัน
- อิฐบล็อก 12.5 ก้อน/ตร.ม., 15-20 ตร.ม./วัน
การสะสมความร้อน การที่ผนังจะอมความร้อนจากภายนอกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเนื้อในของวัสดุ ซึ่งอิฐมอญมีความหนาแน่น จึงค่อนข้างอมความร้อนมากกว่า
- อิฐมวลเบา ไม่สะสมความร้อน
- อิฐมอญ สะสมความร้อน (แนะนำก่อผนังอิฐ 2 ชั้น เพื่อป้องกันความร้อนจากภายนอก)
- อิฐบล็อก ไม่สะสมความร้อน
การป้องกันเสียง ขึ้นอยู่กับเนื้อในของวัสดุ ถ้ามีความหนาแน่นสูง จะสามารถกันเสียงจากภายนอกและภายในได้ดี
- อิฐมวลเบา กันเสียงได้ 38 เดซิเบล
- อิฐมอญ กันเสียงได้ 43 เดซิเบล
- อิฐบล็อก กันเสียงได้น้อยกว่าอิฐแดงและอิฐมวลเบา
การรับน้ำหนัก/ตร.ม. ทั้งการเจาะ ตอก ยึด และความสามารถในการรับน้ำหนักของผนัง
- อิฐมวลเบา รับน้ำหนักได้ 30 กก.
- อิฐมอญ รับน้ำหนักได้ 30 กก.
- อิฐบล็อก รับน้ำหนักได้ 10.5 กก.
การดูดซึมน้ำจากภายนอก หากมีอัตราการดูดซึมน้ำสูง เมื่อนำไปก่อ อาจจะไปแย่งน้ำจากปูนก่อ ทำให้ปูนแห้งตัวเร็วเกินไป และหดตัว ผนังที่ได้จะไม่แข็งแรง หรืออาจเกิดการแตกร้าวได้ในอนาคต
- อิฐมวลเบา ดูดซึมน้ำปานกลาง
- อิฐมอญ ดูดซึมน้ำสูง
- อิฐบล็อก ดูดซึมน้ำสูง
ราคาวัสดุโดยประมาณ/ตร.ม. ขึ้นอยู่กับจำนวน และความกว้างของพื้นที่ในการใช้งาน
- อิฐมวลเบา 115-125 บ./ตร.ม.
- อิฐมอญ 80-90 บ./ตร.ม.
- อิฐบล็อก 50-55 บ./ตร.ม.

ขอคิดการใช้งานใน อิฐ แต่ละประเภทเพื่อก่อสร้าง
เห็นได้ว่า อิฐบล็อกเป็นอิฐชนิดที่ราคาวัสดุรวมกับราคาค่าแรงน้อยที่สุดแต่ก็มีข้อเสียที่มีความแข็งแรงต่ำ แตกง่าย อิฐมวลเบามีราคาสูงขึ้นมาอีกหน่อย มีน้ำหนักเบา แต่ความแข็งแรงยังสู้อิฐมอญและอิฐเซรมิกไม่ได้ จึงเหมาะสำหรับงานที่ต้องการประหยัดโครงสร้าง อย่างตึกสูงที่น้ำหนักมีผลกระทบมากๆ ในขณะที่อิฐมอญและอิฐเซรามิกมีราคาพอๆกัน และมีความแข็งแรงสูง
ทั้งนี้นอกจากราคาวัสดุและค่าแรงงาน ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นแผงอยู่ซึ่งคือ ค่าซ่อมแซมในอนาคต ด้วยความที่อิฐเซรามิก หรืออิฐพันปีมีค่าดูดซึมน้ำต่ำ ความแข็งแรงสูง ทำให้เมื่อใช้งานไปนานๆไม่มีปัญหาผนังบวม ผนังแตกร้าวที่ต้องมาซ่อมแซมในอนาคต ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้ ฉะนั้นในการเลือกซื้อและใช้อิฐชนิดต่างๆจึงต้องคำนึงถึงหลายๆปัจจัย ทั้งราคา คุณสมบัติ ความคงทน และการซ่อมแซมในอนาคตด้วยนั่นเอง
โดยในการเลือกใช้งานอิฐแต่ละประเภทนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงในหลายๆ ด้านทั้งพื้นที่ในการใช้งาน ช่างที่เลือกมีความชำนาญในด้านไหน และงบประมาณในการก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่คนมักนิยมอิฐมวลเบา เพราะแม้จะมีราคาที่สูงกว่าอิฐประเภทอื่นแต่ก็มีขนาดใหญ่และประหยัดปูนที่ใช้ก่อหรือฉาบมากกว่าเพราะมีผิวที่เรียบเนียน และวัสดุอุปกรณ์ก็สามารถหาซื้อได้ง่ายไม่แพ้อิฐแบบดั้งเดิม จำเป็นที่ต้องใช้ช่างที่ความชำนาญมากกว่าปกติเท่านั้น
สรุปการเลือกอิฐ เพื่อสร้างบ้านควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของเจ้าของบ้านว่ามีความต้องการอย่างไรนอกจากการก่อผนังอิฐมวลเบายังนิยมมาสร้างทำเคาน์เตอร์ครัวเพราะสามารถสั่งผลิตอิฐให้มีขนาดต่อก้อนใหญ่พร้อมวางเป็นเคาน์เตอร์ได้จึงสะดวกรวดเร็วกว่าการก่ออิฐก้อนเล็กเป็นเคาน์เตอร์แต่ก็มีข้อเสียในเรื่องความทนทานเพราะรับน้ำหนักได้ไม่ดีเท่าอิฐก้อนเล็กๆ และในการก่อกำแพงบ้าน ถ้าต้องการสร้างบ้านให้เย็น ประหยัดพลังงานควรเลือกอิฐมวลเบา แต่หากต้องการผนังบ้านที่สามารถโชว์ความดิบ เท่อาจเลือกอิฐมอญ เป็นต้น