
การซื้อบ้านมือสองไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาที่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่โหดร้ายเท่ากับบ้านใหม่ในโครงการ เมื่อเทียบขนาดพื้นที่ใช้สอยที่ใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังมีทำเลให้คุณได้เลือกมากมาย โดยเฉพาะในบางพื้นที่ซึ่งบ้านใหม่มือหนึ่งไม่มีช่องว่างให้ผุดขึ้นมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามการซื้อบ้านมือสองที่เคยมีผู้อยู่อาศัยมาแล้วเป็นเรื่องที่ต้องละเอียดรอบคอบอยู่มาก ก่อนจะตัดสินใจทำเรื่องกู้ซื้อบ้าน เพราะเรื่องแบบนี้เข้าข่ายว่า ตาดีได้ตาร้ายเสีย หากหลวมตัวซื้อไปแล้ว เจออะไรที่เรา “พลาด” ภายหลัง ก็คงได้แต่ทำใจและหาทางแก้ไขเท่านั้นเอง ก่อนที่ชีวิตคุณจะเลยไปถึงจุดนั้น เรามาดูข้อแนะนำการซื้อบ้านมือสอง นั่นก็คือดูว่าเราตรวจสอบจุดต่างๆ เกี่ยวกับบ้านมือสองที่คุณกำลังจะซื้อกันก่อนว่ามีอะไรบ้าง

1. เพื่อนบ้านไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน
แม้คุณจะเลือกซื้อบ้านมือสองได้ แต่คุณเลือกเพื่อนบ้านไม่ได้ ฉะนั้นก่อนจะย้ายไปอยู่บ้านใหม่ก็ควรดูให้ถี่ถ้วนสักนิดว่า เพื่อนบ้านใหม่ของคุณดูมีลักษณะอย่างไร แต่กระนั้น เราไม่ได้บอกให้คุณต้องไปเคาะประตูถามไถ่กันทุกบ้าน แค่ลองสังเกตดูว่า
- บ้านที่ติดๆ กันกับคุณดูสงบเรียบร้อยดีหรือไม่
- มีรุกล้ำเนื้อที่ของบ้านที่คุณมาดู หรือมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะจนเกินงามบ้างไหม
- มีเสียงอึกทึกครึกโครม หรืออื่นใดที่อาจจะรบกวนคุณได้บ้างหรือไม่
หากเป็นบ้านเดี่ยวเรื่องพวกนี้ก็ยังพอทำเนา แต่สำหรับทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม ที่ใช้ผนังร่วมกันแล้ว งานนี้ต้องระวังครับ แล้วอย่าลืมด้วยว่า คุณเองนั่นแหละที่จะมารีโนเวทบ้านใหม่ ก็ต้องพูดจากันให้เข้าใจ เพราะเราต้องอยู่กันไปอีกนาน

2. อย่าซื้อแพง
เราควรจะซื้อบ้านมือสองราคาถูกครับ มีเหตุผลน้อยเหลือเกินที่เราพอจะคิดออกเพื่อบอกให้คุณจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อบ้านมือสอง เอาล่ะถึงจำนวนเงินมันไม่สร้างความลำบากให้คุณก็ตาม แต่อย่างไรเสีย บ้านมือสองที่คุณควรซื้อก็น่าจะมีราคาไม่ทิ้งห่างราคาประเมินของบ้านหลังอื่นในพื้นที่เดียวกันมากนัก สิ่งที่คุณควรจะตรวจดูก็คือ
- บ้านหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอยเท่าใด
- มีกี่ชั้น
- มีห้องประเภทใด จำนวนเท่าใดบ้าง
- ราคาประเมินในพื้นที่บริเวณนี้อยู่ที่เท่าใด
- ห่างจากถนนสายหลักกี่กิโลเมตร
- มีรถสาธารณะให้บริการหรือไม่

3. อดีตก็สำคัญ รวมถึงปัจจุบันและอนาคต
การซื้อบ้านมือสองหลังนี้สำหรับคุณอาจจะเป็นการลงหลักปักฐานและมีแผนระยะยาวสำหรับชีวิตข้างหน้า ฉะนั้นคุณก็ควรจะค้นคว้าดูสักนิดเกี่ยวกับความเป็นมาและความเป็นไปที่อาจจะเกิดขึ้นกับบ้านหลังนี้ โดยหลักๆ สิ่งที่คุณควรจะก็มีประมาณ
- บ้านหลังนี้อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมหนักหรือไม่
- บ้านหลังนี้อยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกประกาศเวนคืนจากราชการหรือไม่ คุณสามารถตรวจสอบได้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สำนักงานเขตต่างๆ ที่ว่าการอำเภอ กรมโยธาธิการ กรมทางหลวง หรือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
- ตรวจสอบกรรมสิทธิ์และความถูกต้องของโฉดที่ดิน โดยสามารถติดต่อกับสำนักงานเขตที่ดินได้โดยตรง
- ตรวจสอบค่าสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ว่ามีค้างชำระอยู่หรือไม่ โดยติดต่อกับผู้ให้บริการได้เช่นกัน
- บ้านหลังนี้อยู่ในคดีความใดๆ หรือไม่
- และสำหรับบ้านที่มีการต่อเติม ลองตรวจสอบดูว่ามีการสร้างผิดเงื่อนไขใดๆ ตามที่ขออนุญาตไว้หรือไม่ เพราะวันดีคืนร้าย คุณอาจจะโดนสั่งรื้อถอนได้โดยไม่รู้ตัว
การซื้อบ้านมือสองจำเป็นต้องอาศัยความใส่ใจและความพิถีพิถันอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้ยุ่งยากวุ่นวายเกินไปกว่าที่ทุกคนจะทำได้ เราหวังว่าคำแนะนำด้านบนจะมีประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกบ้านของคุณให้คุ้มค่ายิ่งขึ้นครับ

4. ทุกการซ่อม ทุกการต่อเติม คือรายจ่าย
คิดให้รอบคอบว่าค่าใช้จ่ายซื้อบ้านมือสองทั้งหมดมีอะไรบ้าง ต่อจากข้อแรก ที่เราไม่อยากให้คุณต้องจ่ายแพงนักก็เพราะคุณต้องตกแต่งและปรับปรุงบ้านมือสองที่ซื้อมาแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมจุดที่ชำรุด หรือต่อเติมขึ้นมาใหม่ จะเพื่อความสวยงามตามสมัยนิยมหรือเพื่อประโยชน์ใช้งานก็ดี ฉะนั้นแล้ว ลองคำนวณคร่าวๆ ว่าคุณต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูหรือปรับ แล้วบวกเข้าไปกับราคาขายของบ้าน ก่อนจะตกลงปลงใจซื้อบ้านมือสองหลังนั้น เพราะนั่นคือเม็ดเงินที่คุณต้องจ่ายจริงๆ ครับ

5. มีอะไรอยู่รอบบ้าน
หากว่านี่คือบ้านหลังเดียวของคุณ หรือบ้านที่คุณจะอยู่เป็นประจำแล้วล่ะก็ คงไม่เป็นการเสียเวลาที่จะตรวจสอบรอบบริเวณสักนิดว่า เรากำลังจะเผชิญกับสิ่งแวดล้อมแบบไหน
- มีร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านอาหาร บ้างไหม (ลองคิดว่าหากดึกๆ คุณหิวขึ้นมาจะหาอะไรทานได้จากไหนบ้าง)
- การจราจรรอบบริเวณบ้านติดขัดบ้างหรือไม่
- ถนนหนทางกว้างขวางขนาดไหน
- มีแหล่งเสื่อมโทรมหรือสิ่งใดที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเราหรือไม่
- มีแหล่งงานใหญ่ๆ เช่น โรงการ หรือสำนักงานเอกชน ที่ก่อมลภาวะทางใดทางหนึ่งหรือไม่ หรือเมื่อเร็วๆ นี้สิ่งที่ต้องระวังคือ จะมีตลาดมาล้อมบ้านเราหรือไม่ ... ทางที่ดีควรจะมีขวานไว้ติดบ้านครับ

6. โครงสร้างต้องตรวจละเอียด
สำหรับการซื้อบ้านมือสองนั้น สิ่งที่คุณต้องทราบคืออายุของโครงสร้าง ยิ่งโครงสร้างเก่าก็ยิ่งมีโอกาสที่บ้านจะเสื่อมโทรมไปตามเวลา ลองดูรายการเบื้องต้นว่าคุณต้องตรวจสอบสิ่งใดบ้างครับ
- การทรุดตัวของบ้าน
- มีการกัดเซาะจากน้ำบาดาล น้ำฝน หรือน้ำจากแหล่งอื่นที่ทำอันตรายกับโครงสร้างหรือไม่
- เสาและคานมีการเอียงหรือผิดรูปจากที่ควรจะเป็นหรือไม่
- หากเสาและคานมีรอยร้าว อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ต้องตรวจสอบกับวิศวกรทันที
- หากมีต้นไม้ รากของมันชอนไชมากถึงตัวบ้านหรือไม่
- ประวัติความเสียหายหนักๆ เช่น ถูกน้ำท่วม หรือมีแผ่นดินไหวอะไรหรือเปล่า
- หลังคามีรอยรั่ว หรือห้องน้ำมีจุดรั่วซึมบ้างหรือไม่ ทดลองปิดน้ำทั้งระบบเพื่อดูว่ามิเตอร์ยังเดินอยู่หรือไม่
- สีของผนัง รอยร้าวตามจุด ตามมุมต่างๆ
- สายไฟฟ้ามีจุดใดชำรุดหรือไม่
- ดูให้แน่ใจว่ารอยร้าวที่พบส่งผลต่อโครงสร้างอาคารหรือไม่ หรือเพียงเป็นรอยร้าวจากการฉาบปูน
- บนเพดานมีรอยร้าวใต้ท้องพื้นหรือไม่ ซึ่งเกิดจากการรับน้ำหนักที่มากเกินไป ดีไม่ดีเพดานจะถล่มได้
ทั้งนี้น่าจะเป็นการดี หากคุณมีผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรไปช่วยตรวจสอบโครงสร้างของบ้านมือสองก่อนจะซื้อ นอกจากจะดูความเรียบร้อยของสภาพบ้านแล้ว ยังสามารถพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการต่อเติม หรือรีโนเวทบ้านให้ตอบโจทย์การใช้งานของคุณด้วยครับ