
เทศกาลยื่นภาษีเริ่มขึ้นแล้ว ถึงแม้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีขั้นตอนและกระบวนการค่อนไปทาง”มาก” ที่ประชาชนตาดำๆ อย่างเราต้องตั้งสติและทำความเข้าใจ”เยอะ”มาก ในการกรอกข้อมูล ให้เรารู้สึกยุ่งยากอยู่สักหน่อย แต่ก็ถือเป็นหน้าที่ และ การรักษาสิทธิ์ที่เราพึงทำ 1 ปี กรอกแค่เพียงครั้งเดียว ทำทุกปีเดี๋ยวก็ชิน และสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกไม่เกิน 31 ธันวาคม 2559 นั้นสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ตามที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศอย่างเป็นทางการ ลดหย่อนภาษี บ้านหลังแรก สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ พร้อมจ่ายเงิน-โอนกรรมสิทธิ์ภายใน 31 ธันวาคม 2559 นำเงินค่าบ้าน 20% มาลดหย่อนภาษีได้นาน 5 ปี แล้วมีเงื่อนไขอะไรบ้าง อย่าเพิ่งท้อ เราย่อยมาแบบง่ายๆ ให้คุณเข้าใจได้ไม่ยากกันเลย บ้านหลังแรกของคุณในปีนี้จะมีสิทธิ์ลดหย่อนบ้างหรือเปล่า ตามมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน
1. ต้องเป็น อาคารพร้อมที่ดิน หรือ อาคารชุด (คอนโด) เพื่อ “อยู่อาศัย” ส่วนคนที่ซื้อที่ดินมาหรือมีที่ดินอยู่แล้วแล้วนำมาสร้างบ้านเอง อันนี้ใช้ไม่ได้ ไม่เข้าข่ายสิทธินี้
2. ซื้อ + โอนกรรมสิทธิ์ภายใน 13 ต.ค. 2558-31 ธ.ค. 2559 โดยจะซื้อสด หรือ กู้ซื้อก็สามารถยื่นสิทธิ์ลดหย่อนได้
3. มูลค่าคิดจาก “เงินที่จ่ายจริง” ไม่เกิน 3 ล้านบาท แปลว่า เกิน 3 ล้านไม่ได้ใช้สิทธิ ราคาที่จะใช้ตามเงื่อนไขคือราคาจากสัญญาซื้อขายของกรมที่ดิน ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน (ท.ด. ๑๓) ที่มีตราครุฑ เท่านั้น

4. บ้านหลังแรกในชีวิต ต้องไม่เคยมีบ้าน มีกรรมสิทธิ์ใดๆ ในอาคารพร้อมที่ดิน หรือ ห้องชุดในอาคารชุดมาก่อน
5. บ้านมือไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นบ้านหลังแรกของเรา

6. ใช้สิทธิเป็น “ค่าลดหย่อน” เฉลี่ยจากมูลค่าบ้าน 20% ติดต่อกัน 5 ปี
เช่น ซื้อบ้านและโอนภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2559 ในราคา 3 ล้านบาท สามารถใช้สิทธิมาเป็นค่าลดหย่อนจำนวน (20% x 3,000,000)/5 = 120,000 บาทต่อปี ติดต่อกัน 5 ปี โดย 120,000 บาท นี้จะนำไปหักจากเงินได้พึงประเมิน เหมือนประกันชีวิต LTF RMF ในการคำนวณภาษี “ไม่ใช่” เอาไปหักจากภาษีที่ต้องจ่าย
- ถ้าโอนกรรมสิทธิปี 2559 จะใช้ลดหย่อนสำหรับรอบภาษีปี 2559 (ยื่นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560)
- หากโอนมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ไม่ได้ยื่นในรอบที่ผ่านมา ก็สามารถยื่นเพิ่มเติมได้ ไม่ต้องตกใจไป
7. ซื้อหลายคนร่วมกัน หารตามส่วนของกรรมสิทธิ์แต่ละคน ตามเงื่อนไขที่ว่ามาในข้อ 6
8. สามีภรรยาช่วยกันซื้อ ดูแบบนี้
- ต่างคนต่างยื่นรายการ ต่างฝ่ายต่างยกเว้น
- ยื่นรวมกัน เอามารวมกันยกเว้น
- ถ้ามีรายได้ฝ่ายเดียว คนมีรายได้เอามาใช้ได้เต็มสิทธิ
9. ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับจากวันที่โอนกรรมสิทธิ์ เว้นแต่ ตาย หรือ อสังหาริมทรัพย์สิ้นสภาพ

10. เอกสารประกอบที่ต้องใช้
(1) หนังสือรับรองจากผู้ขายที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์
โดยผู้ขายอสังหาริมทรัพย์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
- แบบซื้อมาจากบริษัท เราสามารถนำแบบฟอร์มจากลิ้งค์ด้านล่างนี้ให้บริษัทเจ้าของโครงการกรอกรายละเอียดและประทับตราบริษัทให้เราได้เลย
- แบบซื้อต่อจากบุคคล คือซื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว ก็ให้ใช้เอกสารชุดเดียวกันให้ผู้ที่ขายให้เรากรอกและเซ็นได้เลย ไม่ต้องมีตราประทับอะไร
*แบบฟอร์มอยู่ท้ายประกาศอธิบดีฉบับนี้ ประกาศอธิบดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 264 ดาวน์โหลด ที่ลิ้งค์ได้เลย
(2) หนังสือรับรองตนเองว่าเป็นที่อยู่อาศัยแห่งแรก เราสามารถกรอกเองได้เลย จากลิ้งค์ประกาศอธิบดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 264 ที่แนบอยู่ด้านบนในข้อ 1
(3) สำเนาสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน (ท.ด. ๑๓) มีตราครุฑ
(4) สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน (กรณีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน) ส่วนตัวจริงเราต้องได้จากธนาคารมาอยู่แล้ว
รูปแบบตัวอย่างการซื้อบ้านเลือกกรอกในเมนู “เงินได้ที่จ่ายเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์” และกรอกตัวเลขตามจริงลงไปได้เลย

ในกรณีที่มีการกู้ยืมเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้น เรายังสามารถได้รับสิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสูงสุดจำนวน 100,000 บาท อีกด้วย ซึ่งถือว่าได้ครบทุกด้าน และไม่ถือเป็นการเสื่อมสิทธิในการลดหย่อนภาษีนะ