
เคยคิดว่าการยื่นกู้ซื้อบ้านเป็นเรื่องยาก แต่หลังจากผ่านประสบการณ์ยื่นกู้ซื้อบ้าน ทำให้รู้ว่าการยื่นกู้ซื้อบ้านให้ผ่าน ไม่ได้ยากอย่างที่คิด จะต้องทำยังไงบ้าง จึงจะกู้ได้ผ่าน โดยส่วนใหญ่แล้วมีน้อยคนที่มีสเตทเมนท์สมบูรณ์แบบในการยื่นกู้ แต่ถึงแม้ว่าจะติดขัดบางอย่างก็ยังพอมีสิทธิที่จะกู้ให้ผ่านได้

การวางแผน และการเตรียมตัวที่ดีในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้
1. พิจารณาราคาบ้าน
ข้อนี้อาจจะดูเหมือนพูดแบบกำปั้นทุบดิน แต่โดยหลักการแล้ว เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเลือกบ้านที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเป็นไปได้สำหรับเรา โดยพิจารณาจากฐานเงินเดือนคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วต่อเดือน โดยทั่วไปคุณจะมีสิทธิกู้ได้ 40 % เช่น ถ้าคุณมีเงินเหลือเดือนละ 20,000 บาท คุณจะกู้ได้ประมาณ 2,700,000 บาท (โดยคำนวณจาก 20,000 หาร 7,200)

2. พิจารณารายได้
- ทีนี้เรามาดูว่ารายได้ของคุณหรือรายได้ของทุกคนรวมกันกรณีกู้ร่วม ต่อเดือนหักค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ปัจจุบันทั้งหมดแล้วเหลือเท่าไหร่
- หนี้บัตรเครดิตจะถูกคิด 10% จากยอดที่ต้องชำระต่อเดือน
- ภาระการผ่อนรถหรือบัตรกดเงินสด จะถูกคิดตามจำนวนที่เรียกเก็บต่อเดือน
- หนี้สินที่เกิดจากเงินกู้สหกรณ์และ กยศ จะไม่ถูกนำมาคิด
- มีการคำนวณหักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุตรของคุณอย่างเช่นค่าเทอมด้วย
- ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวกับสถาบันการเงิน เราไม่ต้องบอกให้เค้ารู้ก็ได้
*หากคุณชำระหนี้ในแต่ละเดือนล่าช้าไปบ้าง แต่ไม่ได้ติดค้างชำระจนขึ้นแบล๊คลิสต์ก็ไม่ได้มีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อเท่าไหร่ แต่ดีที่สุดถ้าคุณสามารถชำระหนี้ต่างๆ ได้ตรงเวลา ก็จะเป็นเครดิตที่ดีสำหรับตัวคุณเอง แต่ไม่ต้องกังวลจนเกินไปว่าการมีหนี้ผูกพันบางอย่างอยู่จะทำให้กู้ไม่ผ่าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าหลังจากหักลบกันแล้ว คุณมีเงินคงเหลือเท่าไหร่
หลังจากคำนวณภาระหนี้และค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อเดือนแล้วก็ไปหักจากเงินเดือนหรือรายรับของคุณ ที่เหลือก็จะเป็นฐานเงินเดือนที่ใช้สำหรับคำนวณเพื่ออนุมัติวงเงินกู้ให้กับคุณ ถ้าเป็นการกู้ร่วมก็จะพิจารณารายได้ของทุกคนหักภาระค่าใช้จ่ายของทุกคน
ทางธนาคารจะพิจารณาตามรายได้ของคุณกับราคาบ้าน ว่ามีความสามารถที่จะผ่อนได้ต่อเดือนเท่าไหร่ แล้วพิจารณาให้สินเชื่อคุณตามสัดส่วน ซึ่งโดยส่วนมากจะได้สินเชื่ออยู่ที่ 80 - 100 % ของวงเงินกู้

3. บุคคลที่จะกู้ร่วม
ถ้าคุณเป็นคนมีฐานะปานกลาง ไม่ได้มีรายได้สูง โดยส่วนมากแล้วการขอกู้คนเดียวจะมีโอกาสผ่านน้อยกว่าการยื่นกู้ร่วม การยื่นกู้ร่วมก็คือคุณมีภาระผูกพันหนี้ร่วมกันมากกว่าหนึ่งคน คุณสามารถยื่นกู้ร่วมได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสามีภรรยา หรือพี่น้อง หรือญาติสนิท เพื่อหลีกเลี่ยงการมีปัญหาของเจ้าของกรรมสิทธิ์ในภายหลัง การกู้ร่วมส่วนมากจะขอกู้ร่วม 2 คน หรือ 3 คนก็ได้
4. บัญชีเงินเดือน/บัญชีรายรับ/สเตทเมนท์
เป็นบัญชีที่คุณจะต้องถ่ายสำเนาเพื่อยื่นให้ทางแบงค์พิจารณารายได้ของคุณ ซึ่งจะต้องดูย้อนหลัง 6 เดือน ในส่วนนี้เป็นเงินเดือนที่เข้ามาประจำทุกเดือน หรือเป็นรายได้ของคุณกรณีทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งหากคุณวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะกู้ซื้อบ้าน คุณควรมีเงินเข้าในบัญชีเป็นประจำทุกเดือนเพื่อแสดงรายได้ของคุณต่อเดือน รายได้ทุกอย่างทั้งที่เป็นรายได้ประจำและรายได้เสริมควรจะนำเข้าบัญชีเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้เห็นว่ารายได้ทั้งหมดมีจำนวนเท่าไหร่ หากคุณทำล่วงหน้าไว้ก่อน เมื่อถึงเวลายื่นกู้จริงคุณก็จะมีสเตทเมนท์ที่ดีสำหรับยื่นกู้

5. พิจารณาเลือกธนาคารที่จะขอสินเชื่อ
ส่วนมากถ้าซื้อบ้านหมู่บ้านจัดสรร ทางโครงการจะมีรายชื่อธนาคารให้คุณเลือก ซึ่งก็เลือกธนาคารของทางโครงการจะสะดวกกว่า แต่หากคุณพิจารณาหาธนาคารเอง ก็ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ของการให้ดอกเบี้ย และอาจจะมีโปรโมชั่นใหม่ๆ ของแต่ละธนาคารออกมา หรืออาจจะเป็นโครงการที่ออกมาจากทางรัฐบาล เช่น Soft Loan ซึ่งจะนำรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องนี้มาเสนอเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป
6. เตรียมเอกสารต่างๆ
บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส ใบเปลี่ยนชื่อ สลิปเงินเดือน จดหมายรับรองเงินเดือน สำเนาสมุดบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน (สเตทเมนท์) ของผู้ยื่นกู้และผู้กู้ร่วม
7. เงินสำรองจ่าย
คุณต้องมีเงินจำนวนหนึ่งในมืออย่างน้อยประมาณ 50,000 บาท ซึ่งคุณจะต้องใช้ในการวางเงินจองบ้าน จ่ายเงินดาวน์ในเดือนแรกๆ จ่ายค่าทำสัญญา ค่าโอนบ้าน ค่าส่วนกลาง ค่ามิเตอร์น้ำ มิเตอร์ไฟ อื่นๆ

8. เงินสำหรับย้ายเข้าบ้านใหม่
คุณควรมีเงินอีกอย่างน้อยประมาณ 50,000 บาท สำหรับใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นก่อนที่จะย้ายเข้าอยู่ อย่างเช่นติดตั้งแทงค์น้ำ ปั๊มน้ำ มุ้งลวด เหล็กดัด ซึ่งจำเป็นต้องทำเพื่อความสะดวก และรวมถึงค่าใช้จ่ายในการขนย้ายของเข้ามาในบ้านใหม่ คุณอาจจะดึงส่วนนี้มาจากเงินเก็บ หรืออาจจะคำนวณส่วนนี้เพิ่มเข้าไปและสอบถามทางแบงค์ว่าสามารถกู้เพิ่มเข้าไปกับการกู้ซื้อบ้านได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับวงเงินกู้และรายได้ของคุณ
ทั้งหมดนี้คงพอจะเป็นประโยชน์สำหรับเป็นไอเดียคร่าวๆ ให้คุณเห็นภาพรวมว่าคุณจะต้องวางแผนและเตรียมตัวอย่างไรบ้าง หากมีข้อผิดพลาดต้องการเสนอแนะก็สามารถคอมเมนท์มาได้ด้านล่าง หากคุณคิดว่าข้อมูลนี้มีประโยชน์สามารถกดแชร์ข้อมูลได้ตามลิงค์ด้านล่างค่ะ ^^